1.การป้องกันไฟป่า
แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ
2.1 การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่า เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยดำเนินการทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเสียหายของไฟป่าที่จะเกิดกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่า ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1.1) ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ดำเนินการโดยจัดหน่วยงานประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ออกพบปะกับประชาชนโดยตรง เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงผลเสียหายของไฟป่าที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ และสัตว์ป่า ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ และขอความร่วมมือให้ประชาชนเลิกจุดไฟเผาป่า และช่วยป้องกันไฟป่า การประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่จะทำในรูป การจัดรถติดเครื่องขยายเสียงกระจายเสียงไปตามหมู่บ้าน จัดภาพยนตร์หรือดนตรีไปแสดงตามหมู่บ้าน เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนมาชุมนุมกันแล้วสอดแทรกการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า ระหว่างพักการแสดงหรือทำในรูปการเข้าร่วมประชุม หมู่บ้าน ตำบล หรือการประชุมกลุ่มกิจกรรมของหมู่บ้านเพื่อพบประชาชนโดยตรง
1.2) ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน ดำเนินการโดยขอความร่วมมือสื่อมวลชนเผยแพร่ บทความ สารคดีเกี่ยวกับไฟป่า ประกาศขอความร่วมมือป้องกันไฟป่าในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทำสปอร์คำขวัญเกี่ยวกับไฟป่า กระจายเสียงตามสถานีวิทยุจัดทำสไลด์ฉายตามโรงภาพยนตร์
1.3) ป้ายประชาสัมพันธ์ ดำเนินการจัดทำแผ่นป้ายประกอบด้วยรูปภาพและคำขวัญป้องกันไฟป่า เชิญชวนให้ราษฎรร่วมมือป้องกันไฟป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เช่น ป่าไม้เป็นศรี อัคคีเป็นภัย ร่วมแรงร่วมใจ ป้องกันไฟป่า โดยติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามสถานที่สาธารณะ ซึ่งประชาชนทั่วไปมองเห็นได้ง่าย เช่น ตามสถานที่ราชการ แนวสองข้างทางถนน หรือตามแนวทางเดินป่า เป็นต้น
1.4) สิ่งตีพิมพ์ ได้แก่ รูปลอก แผ่นปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ ปฏิทิน
มีข้อความหรือบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับไฟป่าเพื่อแจกจ่ายตามหมู่บ้าน โรงเรียน สถานที่ราชการ เป็นต้น
1.5)เอกสารเผยแพร่ ดำเนินการโดยจัดทำจุลสารบรรยายถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพปัญหาไฟป่า การแก้ไขปัญหาไฟป่า การป้องกันไฟป่าโดยจัดทำแยกเป็นเรื่องๆ เพื่อให้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่าอย่างต่อเนื่องตลอดปี มิใช่ดำเนินการเฉพาะแต่ในช่วงฤดูไฟป่าเท่านั้น
1.6) นิทรรศการ ดำเนินการโดยจัดทำภาพกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า ข้อดีและข้อเสียของไฟป่าไว้แสดงตามสถานศึกษา สถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ เช่น หมู่บ้าน วัด และในงานประเพณีต่าง ๆ ที่มีเยาวชนประชาชนร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก โดยเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหาไฟป่า แก่ประชาชนและเยาวชนโดยทั่วไป