ประวัติตำบลปูโยะ ตำบลปูโยะ เป็นตำบลเก่าแก่ของอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นตำบล ๑ใน ๔ ของอำเภอสุไหงโก-ลก คำว่า ปูโยะ เป็นภาษามลายู ที่แปลว่า หม้อ แต่ความหมายของตำบลปูโยะในที่นี้ หมายถึง ปลาชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายปลาช่อนมีลายจุดดำตลอดทั้งตัวในภาษาไทย เรียกว่า ปลาช่อนงูเห่า ซึ่งปลาชนิดนี้มีพบจำนวนมากในตำบลปูโยะ โดยเฉพาะตามคลองโต๊ะแดง จึงเอาปลาชนิดนี้มาตั้งเป็นชื่อตำบลว่าตำบลปูโยะ จนถึงปัจจุบัน โดยตำบลปูโยะ แบ่งออกเป็น ๖ หมู่บ้าน ได้แก่
หมู่ที่ ๑ บ้านลาแล คำว่าลาแล เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แปลว่า หญ้าคา ซึ่งเดิมในหมู่บ้านแห่งนี้มีหญ้าคาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านลาแล ซึ่งหมายถึงหญ้าคา
หมู่ที่ ๒ บ้านปูโยะ ซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านที่มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชื่อ บาบูโย๊ะ (BABUJOK) อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย คำว่า “บาบูโย๊ะ” (BABUJOK) เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง เป็นที่พึ่งอาศัยและต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น “ปูโย๊ะ” (BUJOK) จนถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ ๓ บ้านโต๊ะเวาะ ในอดีตเล่าว่า มีคนแก่ ๒ คน ซึ่งเป็นซึ่งเป็นสามีภรรยากันเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ และไม่มีใครทราบว่า ตา-ยายคู่นี้มีชื่อว่าอะไร จึงพากันเรียกขานว่า โต๊ะ-เวาะ คำว่า “โต๊ะเวาะ” เป็นภาษามลายูท้องถิ่น มาจากคำผสม โต๊ะ กับ เวาะ คำว่าโต๊ะ หมายความว่า ยาย หรือผู้หญิงที่มีอายุมาก คำว่า เวาะ หมายความว่า ตา หรือผู้ชายที่มีอายุมาก จึงใช้ “โต๊ะเวาะ” เรียกขานเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ ๔ บ้านกูแบอีแก เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ได้มีคนอพยพเข้ามาถางป่าเพื่อปลูกพืชไร่ในบริเวณป่าพรุ และได้พบหนองน้ำที่มีลักษณะเป็นบึง มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เลยตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านกูแบอีแก” คำว่า “กูแบอีแก” เป็นภาษาท้องถิ่น (ภาษายาวี) มีคำผสมอยู่ ๒ คำ คือ “กูแบ” แปลเป็นไทยว่า บึง ส่วน “อีแก” แปลเป็นไทยว่า ปลา
หมู่ที่ ๕ บ้านโต๊ะแดง คำว่าโต๊ะแดง เป็นคำเรียกชื่อ ผู้หญิงชราที่ชื่อว่าแดง “โต๊ะ” ในภาษายาวี ซึ่งแปลว่ายาย โต๊ะแดง จึงแปลว่า ยายแดง ซึ่งในอดีตได้เดินทางผ่านมา และเสียชีวิตบริเวณหมู่บ้าน ในปัจจุบันต่อมาประชาชนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “โต๊ะแดง” ซึ่งใช้เรียกขานเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ ๖ บ้านโคกสือแด คำว่า “โคกสือแด” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านจึงใช้ตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้าน บ้านโคกสือแด เป็นส่วนหนึ่งของบ้านกูแบอีแก หมู่ที่ ๔ และได้แยกออกเป็น หมู่ที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘