การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาหรือสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำทางสาธารณะกฏหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
กฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างป้ายบนอาคาร และบนพื้นดิน ป้ายบนอาคารตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (3) ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้ง หรือตั้งป้าย
(ก) ที่ติด หรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะ และมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม
(ข) ที่ติด หรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว ระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้น เมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาด หรือน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 23 ( พ.ศ. 2533 ) ให้ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้วระยะห่างจากที่สาธารณะ มีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดความกว้างของป้ายเกินห้าสิบเซนติเมตร หรือยาวเกินหนึ่งเมตร หรือเนื้อที่ของป้ายเกินห้าพันตารางเซนติเมตร หรือมีน้ำหนักของป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับ หรือติดตั้งป้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินสิบกิโลกรัมเป็นอาคารตาม มาตรา 4 กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 สิ่งที่สร้างอย่างอื่น ที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ตามกฎกระทรวง 55 ( พ.ศ. 2543 )
ข้อ 8 ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคารต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร และส่วนบนสุดของป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายต้องสูงไม่เกิน 6 เมตร จากส่วนสูงของหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งป้ายนั้น
ข้อ 13 ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัด จากจุดที่ติดตั้งป้าย ไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ ที่อยู่ใกล้ป้ายนั้นที่สุด และมีความยาวของป้ายไม่เกิน 32 เมตร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544
ข้อ 36 ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกิน ระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ ( และสูงไม่เกิน 30 เมตร ) มีความยาวไม่เกิน 32 เมตร และต้องห่างจากที่ดินต่างเจ้าจองไม่น้อยกว่า 4 เมตร
ข้อ 37 สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายให้ทำด้วยวัสดุทนไฟทั้งหมด
ข้อ 50 ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินต้องมีระยะร่น ดั้งนี้
- ถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวห่างกึ่งถนนสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตร
- ถนนสาธารณะกว้าง 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวห่างกึ่งถนนสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างของถนน
- ถนนสาธารณะกว้าง 20 เมตรขึ้นไป ให้ร่นแนวห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 2.00 เมตร
สำหรับป้ายบนอาคาร จะต้องมีความสูงไม่เกิน 2 เท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวถนนด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด
พื้นที่ห้ามก่อสร้าง ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท ฯลฯ
บทกำหนดโทษ
มาตรา 65 ความผิด ก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาต หรือก่อสร้างผิดแบบ ( มาตรา 21 , มาตรา 31 ) ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โทษปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท
มาตรา 66 ทวิ ความผิด ไม่รื้อถอนตามคำสั่ง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โทษปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท
มาตรา 70 ความผิดเพื่อพาณิชยกรรม หรือเป็นการกระทำในทางการค้า เพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ ขาย หรือ จำหน่ายโดยมีค่าตอบแทน โทษปรับเป็น 2 เท่าของโทษตามมาตรานั้น
มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ
มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะซึ่งเป็นมาตรการเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ
รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตและกระทำความผิดในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งมาตรการฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
มาตรการ / สรุปสาระสำคัญ
1) มาตรการระยะเร่งด่วน
1.1) มาตรการทางการบริหาร ที่ควรดำเนินการเสร็จภายใน 6 เดือน เช่น
(1) ป้ายโฆษณาทุกประเภทต้องมีเลขทะเบียนควบคุมเป็นระบบเดียว ซึ่งบ่งบอกหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตหรือกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการกำกับดูแล และจัดระเบียบ
(2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมสำหรับแจ้งเบาะแสป้ายโฆษณาหรือสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำทางสาธารณะหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีแนวทางการจัดการที่ชัดเจนและรายงานผลการดำเนินการภายหลัง
1.2) มาตรการทางกฎหมาย ที่ควรดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี เช่น
(1) กำหนดนิยามของคำว่าป้ายโฆษณาให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดลักษณะ รูปแบบ และขนาด ของป้ายโฆษณาให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการควบคุมดูแล
(2) กำหนดค่ามาตรฐานความเข้มของแสงบนป้ายโฆษณาที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และ
(3) ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตติดตั้งให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
2) มาตรการระยะยาว ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยควรจัดให้ความรู้ทางกฎหมายแก่สมาคมโฆษณา สมาคมคอนโดมิเนียม หรือสมาคมภาคธุรกิจเอกชนอื่น ๆ ที่มีความประสงค์จะติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และควรรณรงค์ให้เครือข่ายประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ
มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ
มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ