สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 สร้างความสูญเสียและตื่นกลัวให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงติดโรคง่ายและมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานภารกิจร่วมขององค์การอนามัยโลกและประเทศจีน แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยภาวะหัวใจและหลอดเลือด หรือระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงสูงและมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19
สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นอกจากการสูบบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ปอดอุดตันเรื้อรัง (COPD) ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง การสูบบุหรี่หรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นอีกด้วย เนื่องจากควัน หรือละอองไอของบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมาก ประกอบด้วยสารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ซึ่งสามารถกระจายไปได้ไกล หากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ตอบข้อสงสัยเรื่องบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ไว้ว่า ผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะสูบบุหรี่มือและนิ้วอาจมีเชื้อโรคอยู่ เมื่อสัมผัสกับริมฝีปาก ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 หรือไม่ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังอาจส่งผลให้ผู้สูบมีภาวะโรคปอด หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ซึ่งทำให้ความจุของปอดลดลง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ นอกเหนือจากบุหรี่แล้ว ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือมอระกู่ ที่นิยมสูบกันในสถานบันเทิง ส่วนใหญ่มีการแบ่งปันหรือแชร์กันสูบ แม้จะใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสปากแยกกัน แต่ใช้กระบอกและสายเดียวกัน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิค 19 รวมถึงไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ ในวงกว้างอีกด้วย
ผู้ป่วยที่ สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ข้อมูลจากวารสารทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกา ระบุว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติการสูบบุหรี่มีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 14เท่า นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังระบุอีกว่าไม่ใช่เฉพาะผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อ แต่บุคคลรอบข้างที่ได้รับควันบุหรี่ (Secondhand Smoke) หรือควันที่ติดตามเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้นอีกด้วย หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ได้รายงานบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์จอนห์ วิลซัน (John Wilson) ประธานการแพทย์วิทยาลัยแพทย์แห่งออสเตรเลียและแพทย์ระบบทางเดินหายใจถึงผลกระทบร้ายแรงทั้งหมดของโรคปอดบวมในผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 พบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- ความรุนแรงน้อยที่สุดคือผู้ที่มีไวรัส แต่ไม่มีอาการ
- ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการไข้และไอเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัส แต่สามารถแพร่เชื้อได้
- กลุ่มใหญ่ที่สุด ที่เป็นผลตรวจเชื้อไวรัสเป็นบวก หรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง มักพบในผู้มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี มีภาวะปอดอักเสบและการพัฒนาโรคขั้นรุนแรง มีแนวโน้มเสียชีวิต
ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง โดยเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) มักพบอาการไอ หายใจลำบากและหอบเหนื่อย เนื่องจากการติดเชื้อในระบบเดินหายใจส่งผลให้เกิดการอักเสบและสูญเสียความสามารถของปอดในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ่อนแอด้วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่ปอดไม่แข็งแรงเนื่องจากสูบบุหรี่เป็นประจำ การติดเชื้อจะลุกลามรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากอาการปอดอักเสบทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลถึงอวัยวะระบบอื่นๆ เช่น หัวใจ ไต ฯลฯ และอาจเสียชีวิตได้